5 วิธีการรับประทาน ปลาแซลมอนดิบ ควรกินอย่างไรให้ปลอดภัยต่อสุขภาพ
แซลมอนดิบ คืออาหารญี่ปุ่นที่เป็นของโปรดของคนไทย และคนทั่วทุกมุมโลก ซึ่งนี่อาจจะกลายเป็นสาเหตุของการระบาดของ เชื้อไวรัสโควิด-19 (COVID-19) ในระลอกใหม่ที่เมืองปักกิ่ง ประเทศจีน เนื่องจากมีการตรวจพบเชื้อไวรัสดังกล่าวในเขียงปลาแซลมอนในตลาดค้าอาหารสดขนาดใหญ่ ทำให้หลายๆ คนเริ่มที่จะเกิดข้อสงสัยว่าเรายังจะสามารถรับประทาน แซลมอนดิบ กันได้อยู่หรือไม่!?
แซลมอนดิบ อันตรายไหม?
อาหารดิบมักจะเสี่ยงต่อเชื้อโรค และเชื้อแบคทีเรียต่างๆ ที่จะมาพร้อมกับอาหาร เพราะตัวเชื้อโรคต่างๆ ไม่ได้ถูกทำลายด้วยการผ่านการปรุงจากความร้อน อาหารดิบจึงเป็นหนึ่งในสาเหตุที่มีความเกี่ยวข้องกับโรคทางเดินอาหารต่างๆ ไม่ว่าจะโรคที่พบกันอยู่บ่อยๆ อย่าง อาหารเป็นพิษ , ท้องเสีย , ท้องร่วง ไปจนถึงพยาธิชนิดต่างๆ ที่อาจมากับอาหารสด ทั้งจากสัตว์และผักผลไม้
ปลาแซลมอนที่สามารถกินแบบดิบๆ เป็น ซาชิมิ อาจจะมีพยาธิในชนิดที่พบเห็นได้ เช่น พยาธิตัวกลมกลุ่มอนิสซาคิส (Anisakidae) และจุลินทรีย์ต่างๆ ที่อาจทำให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษ เช่น อีโคไล (E. coli) เชื้อวิบริโอ พาราฮีโมไลติคัส (Vibrio parahaemolyticus), วิบริโอ คอเลอเร (Vibrio cholerae), ซาลโมเนลล่า (Salmonella spp.) ลิสทีเรีย โมโนไซโตจีเนส (Listeria monocytogenes) และสแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส (Staphylococcus aureus)
การปนเปื้อนของจุลินทรีย์มักจะก่อให้เกิดโรคดังกล่าวอาจเกิดจากการปนเปื้อนจากสิ่งแวดล้อมได้ เช่น เชื้อลิสทีเรีย โมโนไซโตจีเนส หรืออาจจะปนเปื้อนมาจากน้ำทะเลตามธรรมชาติ ได้แก่ เชื้อวิบริโอ พาราฮีโมไลติคัส หรือเชื้ออหิวาต์เทียม และนอกจากนี้ยังมีการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรียในขณะที่กำลังแล่และหั่นปลาดิบ เช่น เชื้อซาลโมเนลล่า ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเกิดจากการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรียจากอาหารดิบอื่นๆ โดยการใช้อุปกรณ์เครื่องครัว ไม่ว่าจะเป็น มีด , เขียง , รวมไปถึงภาชนะอื่นๆ ที่ไม่ได้ล้างให้สะอาด แต่ในบางกรณีการปนเปื้อนเชื้อซาลโมเนลล่าและอีโคไล ซึ่งเป็นเชื้อที่พบได้ในอุจจาระของคนและสัตว์ อาจมาจากผู้ประกอบการที่มีสุขลักษณะส่วนบุคคลที่ไม่เหมาะสม เช่นการทำความสะอาด ไม่ล้างมือให้สะอาดหลังจากเข้าห้องน้ำ
กิน แซลมอนดิบ อย่างไร ให้ปลอดภัย
- เลือกรับประทานแซลมอนจากร้านที่ดูน่าเชื่อถือ มั่นใจในคุณภาพและเชื่อถือได้ หรือจะต้องเป็นแซลมอนที่อยู่ในเกรดสำหรับรับประทานแบบซาชิมิได้เท่านั้น
- สอบถามแหล่งที่มาของปลา เพราะส่วนใหญ่แล้วแซลมอนเกรดซาชิมิมักจะมาจากประเทศ นอร์เวย์ และญี่ปุ่น
- ต้องล้างมือให้สะอาดก่อนหยิบจับอาหาร หากมีบาดแผลที่มือให้ปิดพลาสเตอร์ และใส่ถุงมือขณะประกอบอาหาร
- แซลมอนชนิดแล่เป็นชิ้นๆ แล้ว ควรบรรจุใส่ในภาชนะที่ปิดเรียบร้อย เช่น ถาดที่มีแผ่นฟิล์มพลาสติกหุ้มมิดชิด เพื่อป้องกันการปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียต่างๆ
- หากซื้อกลับบ้าน แซลมอนควรเก็บรักษาในอุณหภูมิแช่เย็นตลอดอายุการจำหน่ายเพื่อควบคุมการเพิ่มปริมาณของเชื้อแบคทีเรีย